บริษัท โฟร์โทรนิคส์ เทคโนโลยี จำกัด Tel 02-053-8308, 02-914-2075 , MB : 086-331-2488 Fax : 02-914-4747 E-mail:[email protected]

บทความ

กฎหมายเกี่ยวกับรังสี พ.ศ. ๒๕๔๗

05-06-2560 08:34:02น.
ปัจจุบันมีการใช้เครื่องกำเนิดรังสีกันอย่างกว้างขว้างทั้งงานทางด้าน อุตสาหกรรมและงานทางด้านการแพทย์ และงานทางด้ด้านการเกษตร ซึ่งการถือครองเครื่องมือ เครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับการให้กำเนิดรังสี  จำเป็นต้องมีการควบคุมเป็นอย่างดีเพราะสารรังสี มีคุณ แต่ก็มีโทษด้วยถ้าควบคุมไม่ได้ ดังนั้นจึงมีกฎหมายออกมาเพื่อกำหนดค่ามาตรฐานเกี่ยวกับรังสี เพื่อคุ้มครองผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีและผู้ถือครอง เพื่อให้ความปลอดภัยแก้ผู้ใช้งาน และผู้ประกอบการทั้งหลาย เพื่อจะได้ใช้รังสี เป็นประโยชoน์ สูงสุดไม่เกิดโทษ 

กฎกระทรวง

กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย

อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

เกี่ยวกับรังสีชนิดก่อไอออน

พ.ศ. ๒๕๔๗

-----------------------

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๑๐๓ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

หมวด ๑

บททั่วไป

-----------------------

ข้อ ๑  ในกฎกระทรวงนี้

รังสี” หมายความว่า รังสีชนิดก่อไอออน

รังสีชนิดก่อไอออน (ionizing radiation)” หมายความว่า พลังงานในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรืออนุภาครังสีใดๆ ที่สามารถก่อให้เกิดการแตกตัวเป็นไอออนได้ทั้งโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมในตัวกลางที่ผ่านไป ได้แก่ รังสีแอลฟา รังสีบีตา รังสีแกมมา รังสีเอกซ์ อนุภาคนิวตรอน อิเล็กตรอน หรือโปรตอนที่มีความเร็วสูง เป็นต้น

ต้นกำเนิดรังสี (source)” หมายความว่า  สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีการแผ่รังสีออกมาโดยการสลายตัวของนิวเคลียส หรือสามารถก่อให้เกิดการแผ่รังสีออกมาโดยวิธีอื่น  ทั้งนี้ ไม่ว่าต้นกำเนิดรังสีนั้นจะเป็นชนิดปิดผนึกหรือไม่ปิดผนึกก็ตาม

ต้นกำเนิดรังสีชนิดไม่ปิดผนึก (unsealed source)” หมายความว่า ต้นกำเนิดรังสีที่ไม่ได้มีการปิดผนึก บรรจุหรือห่อหุ้มอย่างถาวรในปลอกหุ้มหรือวัสดุห่อหุ้มที่มิดชิดและแข็งแรงทนทานเพียงพอที่จะป้องกันการรั่ว ไหล หก หล่น หรือฟุ้งกระจายของสารกัมมันตรังสี

กากกัมมันตรังสี (radioactive waste)” หมายความว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ประกอบหรือปนเปื้อนด้วยสารกัมมันตรังสีและไม่เป็นประโยชน์ในการใช้งาน

ปริมาณรังสีสะสม หมายความว่า ผลรวมของปริมาณรังสีที่ร่างกายได้รับ

พื้นที่ควบคุม หมายความว่า บริเวณที่กำหนดเป็นบริเวณรังสีและบริเวณรังสีสูง

บริเวณรังสี หมายความว่า บริเวณที่มีอัตราปริมาณรังสีเกิน ๒.๕ ไมโครซีเวอร์ต (micro Sievert) ต่อชั่วโมง แต่ไม่เกิน ๒๕ ไมโครซีเวอร์ต (micro Sievert) ต่อชั่วโมง

บริเวณรังสีสูง หมายความว่า บริเวณที่มีอัตราปริมาณรังสีเกิน ๒๕ ไมโครซีเวอร์ต (micro Sievert) ต่อชั่วโมงขึ้นไป

อุปกรณ์บันทึกปริมาณรังสีประจำตัวบุคคล หมายความว่า อุปกรณ์บันทึกปริมาณรังสีที่ใช้สวมใส่หรือติดไว้ตามส่วนต่างๆ ของตัวลูกจ้าง เพื่อการบันทึกปริมาณรังสีสะสมที่ลูกจ้างได้รับตามช่วงเวลาของการปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีซึ่งสามารถอ่านค่าได้โดยทันทีหรือนำไปวิเคราะห์ผลในภายหลัง ได้แก่ ฟิล์มแบดจ์ (film badge) ฟิล์มริงก์ (film ring) ที แอล ดี แบดจ์ (TLD badge) ที แอล ดี ริงก์ (TLD ring) ที แอล ดี แคปซูล (TLD capsule) พอคเคท แชมเบอร์ (pocket chamber) พอคเคทโดสซิมิเตอร์ (pocket dosimeter) เป็นต้น

ผลิต หมายความว่า ทำ ผสม ปรุง ปรุงแต่ง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป และหมายความรวมถึงการบรรจุ เก็บ เคลื่อนย้าย และการติดฉลากหรือตราหรือสัญลักษณ์บนหีบห่อบรรจุ ภาชนะบรรจุปลอกหุ้มหรือสิ่งห่อหุ้มสารกัมมันตรังสี

มีไว้ในครอบครอง หมายความว่า การมีไว้ในครอบครอง ไม่ว่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นและไม่ว่าจะเป็นการมีไว้เพื่อขาย เพื่อขนส่ง เพื่อใช้หรือเพื่อประการอื่นใด และรวมถึงการทิ้งอยู่หรือปรากฏอยู่ในบริเวณที่อยู่ในความครอบครองด้วย

หมวด ๒

การควบคุมและป้องกันอันตราย

-----------------------

ข้อ ๒  ให้นายจ้างซึ่งผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งต้นกำเนิดรังสีแจ้งจำนวนและปริมาณความแรงรังสีของต้นกำเนิดรังสีดังกล่าวต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ผลิตหรือมีไว้ในครอบครอง

ในกรณีที่นายจ้างผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งต้นกำเนิดรังสีก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับให้นายจ้างแจ้งจำนวนและปริมาณความแรงรังสีของต้นกำเนิดรังสีดังกล่าวต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนหรือปริมาณความแรงรังสีของต้นกำเนิดรังสีตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองที่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงของสารกัมมันตรังสีโดยการสลายตัวตามธรรมชาติ ให้นายจ้างแจ้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

การแจ้งจำนวนและปริมาณความแรงรังสีของต้นกำเนิดรังสีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง การแจ้งการเปลี่ยนแปลงของจำนวนหรือปริมาณความแรงรังสีของต้นกำเนิดรังสีตามวรรคสามให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด

ข้อ ๓  ให้นายจ้างกำหนดพื้นที่ควบคุมโดยจัดทำรั้ว คอกกั้นหรือเส้นแสดงแนวเขตและจัดให้มีป้ายข้อความ ระวังอันตรายจากรังสี ห้ามเข้า” อย่างน้อยเป็นภาษาไทย ด้วยอักษรสีดำบนพื้นสีเหลืองแสดงไว้ให้เห็นโดยชัดเจนในบริเวณนั้น

ข้อ ๔  ห้ามลูกจ้างซึ่งไม่มีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีหรือบุคคลภายนอกเข้าไปในพื้นที่ควบคุม เว้นแต่จะได้รับมอบหมายหรือได้รับอนุญาตจากนายจ้าง  ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้รับผิดชอบดำเนินการทางด้านเทคนิคในเรื่องรังสีตามข้อ ๙

ห้ามมิให้นายจ้างอนุญาตให้หญิงมีครรภ์เข้าไปในพื้นที่ควบคุม

ข้อ ๕  ให้นายจ้างจัดเครื่องมือหรืออุปกรณ์ช่วยลดปริมาณรังสีที่ต้นกำเนิดรังสีหรือที่ทางผ่านของรังสี และกำหนดวิธีและเวลาการทำงานเพื่อป้องกันมิให้ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่ควบคุมได้รับปริมาณรังสีสะสมเกินเกณฑ์กำหนดอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) ๒๐ มิลลิซีเวอร์ต (milli Sievert) ต่อปี โดยเฉลี่ยในช่วงห้าปีติดต่อกันสำหรับศีรษะ ลำตัว อวัยวะที่เกี่ยวกับการสร้างโลหิตและระบบสืบพันธุ์  ทั้งนี้ ในแต่ละปีจะรับปริมาณรังสีสะสมได้ไม่เกิน ๕๐ มิลลิซีเวอร์ต (milli Sievert)

(๒) ๑๕๐ มิลลิซีเวอร์ต (milli Sievert) ต่อปี สำหรับเลนส์ของดวงตา

(๓) ๕๐๐ มิลลิซีเวอร์ต (milli Sievert) ต่อปี สำหรับผิวหนัง หรือมือและเท้า

 ข้อ ๖  ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสี ใช้อุปกรณ์บันทึกปริมาณรังสีประจำตัวบุคคลตลอดเวลาที่มีการปฏิบัติงาน

 ข้อ ๗  ให้นายจ้างจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณรังสีสะสมที่ลูกจ้างได้รับเป็นประจำทุกเดือนตามแบบที่อธิบดีกำหนด โดยนายจ้างต้องแจ้งปริมาณรังสีสะสมดังกล่าวให้ลูกจ้างทราบทุกครั้งและเก็บหลักฐานไว้ ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้างพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้ตลอดเวลาทำการ

 ข้อ ๘  ให้นายจ้างจัดให้มีลูกจ้างซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ ๙ อย่างน้อยหนึ่งคนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการทางด้านเทคนิคในเรื่องรังสีประจำสถานประกอบกิจการตลอดระยะเวลาที่มีการทำงานเกี่ยวกับรังสี เพื่อป้องกันและระงับอันตรายจากรังสีที่อาจมีต่อบุคคลหรือทรัพย์สินโดยให้ปฏิบัติหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่นายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับรังสี รวมทั้งให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่นายจ้างในการจัดทำแนวปฏิบัติ ข้อบังคับ กฎหรือระเบียบว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับรังสี เพื่อให้ลูกจ้างใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติงานตามข้อ ๒๘

(๒) ตรวจตราและควบคุมดูแลการปฏิบัติงาน สภาพการทำงาน การใช้และการบำรุงรักษาวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือ รวมทั้งการทำความสะอาดและการกำจัดการเปรอะเปื้อนหรือปนเปื้อนทางรังสีตามข้อ ๑๒ แล้วรายงานนายจ้างให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข

(๓) จัดทำบันทึก สถิติ และสืบหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุและโรคที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องจากรังสีแล้วรายงานให้นายจ้างดำเนินการปรับปรุงแก้ไข

(๔) ประเมินอันตรายจากรังสีในสถานที่ทำงานของลูกจ้างตามหลักวิธีทางด้านรังสีและบันทึกเป็นหลักฐานอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง และนำมาวางแผนหรือกำหนดแนวทางป้องกันและระงับอันตราย

(๕) ให้คำแนะนำและข้อมูลแก่นายจ้างเพื่อการแจ้งเหตุตามข้อ ๒๑

ในกรณีที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการทางด้านเทคนิคในเรื่องรังสีพ้นจากหน้าที่ นายจ้างต้องจัดให้มีผู้รับผิดชอบดำเนินการทางด้านเทคนิคในเรื่องรังสีคนใหม่แทนนับแต่วันที่ผู้รับผิดชอบเดิมพ้นหน้าที่

ให้นายจ้างแจ้งชื่อและคุณสมบัติของผู้รับผิดชอบดำเนินการทางด้านเทคนิคในเรื่องรังสีตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่จัดให้มีผู้รับผิดชอบดำเนินการทางด้านเทคนิคในเรื่องรังสี แล้วแต่กรณี

 ข้อ ๙  ผู้รับผิดชอบดำเนินการทางด้านเทคนิคในเรื่องรังสีต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยได้ศึกษาและสอบผ่านวิชาเกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากรังสีอย่างน้อยสามหน่วยกิต

(๒) เป็นผู้ซึ่งผ่านการฝึกอบรมและผ่านการทดสอบตามหลักสูตรการป้องกันอันตรายทางรังสีจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือสถาบันอื่นที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานรับรอง

 ข้อ ๑๐  ห้ามมิให้นายจ้างยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ลูกจ้างเข้าพักอาศัย พักผ่อน นำอาหารเครื่องดื่มหรือบุหรี่เข้าไปในพื้นที่ควบคุม

 ข้อ ๑๑  ให้นายจ้างจัดให้มีที่ล้างมือ ที่ล้างหน้าและที่อาบน้ำ เพื่อให้ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีใช้หลังจากปฏิบัติงานหรือก่อนออกจากที่ทำงาน และต้องให้ลูกจ้างถอดชุดทำงานที่ใช้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีออกและเก็บไว้ในสถานที่ที่เหมาะสมเป็นสัดส่วนโดยเฉพาะ

 ข้อ ๑๒  ให้นายจ้างจัดให้มีการทำความสะอาดชุดทำงาน สิ่งของ อุปกรณ์ เครื่องใช้ รวมทั้งสถานที่ที่มีการเปรอะเปื้อนหรือปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีภายในเวลาที่เหมาะสมและโดยวิธีที่ปลอดภัย

 ข้อ ๑๓  ให้นายจ้างซึ่งผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งต้นกำเนิดรังสีจัดให้มีแผนป้องกันและระงับอันตรายจากรังสีในภาวะการทำงานปกติและเหตุฉุกเฉินทางรังสีหรืออุบัติเหตุร้ายแรง และส่งแผนดังกล่าวต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อให้ความเห็นชอบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งต้นกำเนิดรังสี

ในกรณีที่นายจ้างผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งต้นกำเนิดรังสีอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับให้นายจ้างจัดให้มีและส่งแผนป้องกันและระงับอันตรายจากรังสีในภาวะการทำงานปกติและเหตุฉุกเฉินทางรังสีหรืออุบัติเหตุร้ายแรงต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อให้ความเห็นชอบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

ในกรณีที่นายจ้างมีแผนป้องกันและระงับอันตรายจากรังสีในภาวะการทำงานปกติและเหตุฉุกเฉินทางรังสีหรืออุบัติเหตุร้ายแรงตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานปรมาณูเพื่อสันติหรือกฎหมายอื่น ให้นายจ้างจัดส่งแผนดังกล่าวต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้วแต่กรณี

ให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกซ้อมตามแผนป้องกันและระงับอันตรายจากรังสีในภาวะการทำงานปกติและเหตุฉุกเฉินทางรังสีหรืออุบัติเหตุร้ายแรง อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

 ข้อ ๑๔  ในกรณีที่มีสารกัมมันตรังสีรั่ว ไหล หก หล่น หรือฟุ้งกระจาย เกิดอัคคีภัย เกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสีหรืออุบัติเหตุร้ายแรง อันอาจเป็นเหตุให้ลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วยหรือตาย ให้นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างทุกคนหยุดการทำงานและออกไปยังสถานที่ที่ปลอดภัยทันที และให้นายจ้างดำเนินการให้มีความปลอดภัยตามแผนป้องกันและระงับอันตรายจากรังสีในเหตุฉุกเฉินทางรังสีโดยมิชักช้า

 ข้อ ๑๕  ให้นายจ้างเก็บรักษา เคลื่อนย้าย และขนส่งต้นกำเนิดรังสี รวมทั้งการจัดการกากกัมมันตรังสีเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ลูกจ้างตามเงื่อนไขและวิธีการที่อธิบดีกำหนด

 หมวด ๓

เครื่องหมาย ฉลาก และสัญญาณเตือนภัย

-----------------------

ข้อ ๑๖  ให้นายจ้างจัดให้มีเครื่องหมายเตือนภัยติดไว้ให้เห็นโดยชัดเจนในบริเวณรังสี บริเวณรังสีสูง บริเวณที่มีการฟุ้งกระจายของสารกัมมันตรังสี หรือบริเวณหรือห้องใดๆ ที่มีการเก็บรักษาสารกัมมันตรังสี  ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด

 ข้อ ๑๗  ให้นายจ้างจัดทำฉลากที่มีเครื่องหมายและข้อความเตือนภัยติดไว้ที่ภาชนะที่ใช้บรรจุหรือห่อหุ้มสารกัมมันตรังสีตามแบบที่อธิบดีกำหนด

 ข้อ ๑๘  ให้นายจ้างจัดให้มีป้ายห้ามนำภาชนะหรือวัสดุซึ่งเปรอะเปื้อนหรือปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีออกไปนอกบริเวณที่ปฏิบัติการ

 ข้อ ๑๙  ให้นายจ้างติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบสีแดงเพื่อเตือนภัยในบริเวณรังสีสูงให้เห็นโดยชัดเจน

 ข้อ ๒๐  ให้นายจ้างจัดให้มีระบบสัญญาณฉุกเฉินในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสีขึ้นเพื่อให้ลูกจ้างออกไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย โดยสัญญาณฉุกเฉินต้องมีลักษณะดังนี้

(๑) ระบบสัญญาณฉุกเฉิน ต้องเปล่งเสียงให้ลูกจ้างที่ทำงานภายในอาคารได้ยินอย่างทั่วถึงโดยมีระดับความดังของเสียงไม่น้อยกว่า ๑๐๐ เดซิเบล (เอ) วัดห่างจากจุดกำเนิดของเสียงหนึ่งเมตรโดยรอบ

(๒) อุปกรณ์ที่ทำให้เสียงของสัญญาณฉุกเฉินทำงานต้องอยู่ในที่เด่นชัดเข้าไปถึงได้ง่าย

(๓) สัญญาณฉุกเฉินจะต้องมีเสียงที่แตกต่างไปจากเสียงที่ใช้ในสถานประกอบกิจการทั่วไปและห้ามใช้เสียงดังกล่าวในกรณีอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกัน

(๔) ต้องจัดให้มีการทดสอบประสิทธิภาพในการทำงานของระบบสัญญาณฉุกเฉินอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง

สำหรับกิจการสถานพยาบาลหรือสถานที่ที่ไม่ต้องการใช้เสียง ต้องจัดให้มีอุปกรณ์หรือมาตรการอื่นใด เช่น สัญญาณไฟ รหัส ที่สามารถแจ้งเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 หมวด ๔

การแจ้งเหตุและการรายงาน

-----------------------

ข้อ ๒๑  ในกรณีที่ต้นกำเนิดรังสี อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้รังสีเกิดความเสียหาย ชำรุด แตกร้าวหรือสูญหาย ซึ่งอาจทำให้สารกัมมันตรังสีรั่ว ไหล หก หล่น หรือฟุ้งกระจาย สูญหาย เกิดอัคคีภัย เกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสีหรืออุบัติเหตุร้ายแรง อันอาจเป็นเหตุให้ลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วยหรือตาย ให้นายจ้างแจ้งเหตุดังกล่าวโดยทันทีต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

การแจ้งเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างแจ้งโดยการส่งข้อความทางโทรสารหรือโทรศัพท์ ในกรณีมีเหตุขัดข้องไม่สามารถกระทำได้ให้แจ้งโดยวิธีอื่นที่ทำให้ทราบเหตุโดยเร็ว

 ข้อ ๒๒  ให้นายจ้างจัดทำรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามข้อ ๒๑ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับสาเหตุ ขอบเขตของการสัมผัสรังสีหรือสารกัมมันตรังสี ปริมาณความแรงของรังสี สาเหตุที่ลูกจ้างได้รับรังสี การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและขั้นตอนที่จะป้องกันการเกิดเหตุซ้ำอีกเพื่อรายงานต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เกิดเหตุ

 ข้อ ๒๓  ในกรณีที่มีการตาย การเจ็บป่วย การประสบอันตราย หรือการเกิดโรคเนื่องจากการทำงานเกี่ยวกับรังสี ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เกิดจากเหตุตามข้อ ๒๑ หรือกรณีอื่น ให้นายจ้างรายงานต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ลูกจ้างตายหรือได้รับอันตรายเนื่องจากการทำงานเกี่ยวกับรังสี

 ข้อ ๒๔  ให้นายจ้างรายงานการปฏิบัติงานของผู้รับผิดชอบดำเนินการทางด้านเทคนิคในเรื่องรังสีต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ตามกำหนดเวลา ดังนี้

(๑) การปฏิบัติงานระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ให้รายงานภายในเดือนกรกฎาคมของปีเดียวกัน

(๒) การปฏิบัติงานระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม ให้รายงานภายในเดือนมกราคมของปีถัดไป

การรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด

 หมวด ๕

การคุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล

-----------------------

ข้อ ๒๕  ให้นายจ้างจัดอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล เช่น หมวดพลาสติก ถุงมือผ้าหรือยาง รองเท้า เสื้อคลุมที่ทำด้วยฝ้ายหรือยาง แว่นตา ที่กรองอากาศ เครื่องช่วยหายใจหรืออุปกรณ์อื่นที่จำเป็น ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถป้องกันหรือลดอันตรายจากรังสีที่จะเข้าสู่ร่างกายเพื่อให้ลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับต้นกำเนิดรังสีชนิดไม่ปิดผนึก ใช้หรือสวมใส่ตลอดเวลาขณะปฏิบัติงาน  ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามสภาพและลักษณะของงาน

ในกรณีที่ลูกจ้างไม่ใช้หรือไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ให้นายจ้างสั่งลูกจ้างหยุดการทำงานทันทีจนกว่าลูกจ้างจะได้ใช้หรือสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว

อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่นายจ้างจัดให้ลูกจ้างใช้หรือสวมใส่ขณะปฏิบัติงานเกี่ยวกับต้นกำเนิดรังสีชนิดไม่ปิดผนึก ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่อธิบดีกำหนด

 ข้อ ๒๖  ให้นายจ้างปฏิบัติดังต่อไปนี้

(๑) จัดทำคู่มือหรือเอกสารเกี่ยวกับประโยชน์ วิธีการใช้ และวิธีการบำรุงรักษาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล พร้อมทั้งแจกจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับต้นกำเนิดรังสีชนิดไม่ปิดผนึกทุกคน คู่มือและเอกสารนี้อย่างน้อยต้องมีข้อความเป็นภาษาไทย

(๒) สาธิตเกี่ยวกับวิธีการใช้และวิธีการบำรุงรักษาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ

(๓) กำหนดมาตรการหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้และการบำรุงรักษาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งแจ้งให้ลูกจ้างทราบ

 หมวด ๖

เบ็ดเตล็ด

-----------------------

ข้อ ๒๗  ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีได้รับการอบรมให้เข้าใจและทราบถึงอันตรายและวิธีการป้องกันอันตรายจากรังสีก่อนเข้ารับหน้าที่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด

 ข้อ ๒๘  ให้นายจ้างจัดทำแนวปฏิบัติ ข้อบังคับ กฎหรือระเบียบว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับรังสีซึ่งอย่างน้อยต้องมีข้อความเป็นภาษาไทย เพื่อให้ลูกจ้างใช้เป็นคู่มือปฏิบัติงานพร้อมทั้งปิดประกาศโดยเปิดเผย ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้างเพื่อให้ลูกจ้างได้ทราบและดูได้โดยสะดวก

 ข้อ ๒๙  ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีได้รับการตรวจสุขภาพร่างกายอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และเก็บผลการตรวจไว้ ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้างพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้ตลอดเวลาทำการ

 ข้อ ๓๐  ในกรณีที่พบความผิดปกติของร่างกายหรือความเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานเกี่ยวกับรังสีของลูกจ้างหรือมีใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งที่แสดงว่าลูกจ้างไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปได้ นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลในทันทีและเปลี่ยนงานที่เหมาะสมให้ลูกจ้างนั้นเป็นการชั่วคราวตามคำแนะนำของแพทย์หรือตามที่เห็นสมควร จนกว่าจะได้รับการยืนยันจากแพทย์ให้สามารถกลับเข้าทำงานในหน้าที่เดิมได้

 ข้อ ๓๑  ให้นายจ้างจัดเก็บหลักฐานตามข้อ ๗ และข้อ ๒๙ ไว้ ณ สถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้างเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่วันสิ้นสุดการจ้างงานของลูกจ้างแต่ละราย เว้นแต่ในกรณีที่มีคำร้องของลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงานหรือมีการฟ้องคดีต่อศาลเกี่ยวกับโรคหรืออันตรายอย่างใดต่อสุขภาพของลูกจ้าง ให้นายจ้างเก็บหลักฐานดังกล่าวไว้จนกว่าจะมีคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานหรือคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี

 ข้อ ๓๒ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

                                                                                              ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗

                                                                                                              อุไรวรรณ  เทียนทอง

                                                                                                    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน